"บ้านเต้นรำ" ย่านนางเลิ้งเคยเป็นแหล่งรวมหนุ่มสาวสังคมที่มาเต้นลีลาศกัน เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งภาพอดีตกำลังหวนกลับมาอีกครั้งค่ะ เมื่อคนในชุมชนเริ่มคืนชีวิตให้บ้านเก่าหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงเรียนสอนลีลาศ ไม่เพียงใช้บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่เล็กๆ แต่ยังเป็นอีกวิธีนำศิลปะมาพัฒนาเด็กและเยาวชน
ค่อยๆขยับเท้าก้าวตามจังหวะที่นักลีลาศมืออาชีพลงมือสอน อาจดูไม่ถนัดกันนักแต่จุดประกายให้เยาวชนนางเลิ้งอยากต่อยอด เพราะจังหวะและลีลาของลีลาศต่างจากรำไทยที่เด็กๆคุ้นเคย คือบทเรียนสั้นๆ ในงานเปิดบ้านสามัคคีลีลาศ ที่เสียงเพลงและผู้คนทำให้อดีตโรงเรียนสอนลีลาศยอดนิยมเมื่อ 60 ปีก่อนกลับมามีชีวิตใหม่ พื้นไม้ที่ทรุดโทรมถูกซ่อมแซม เตรียมสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวให้ความรู้เรื่องลีลาศและประวัติศาสตร์บ้านเก่าที่ชุมชนเรียกขานว่า "บ้านเต้นรำ" หลังนี้
นอกจากที่เคยเป็นที่อยู่ของครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกถึง 36 คน หากบ้านไม้ 2 ชั้น เป็นที่รวมตัวของเพื่อนนักธุรกิจที่มาพบปะสังสรรค์ ในปี 2494 เจ้าของบ้านจึงเปิดเป็นโรงเรียนสามัคคีลีลาศ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นที่รวมตัวของหนุ่มสาวสังคมตามกระแสนิยมลีลาศในยุคนั้น บ้านหลังนี้จึงเป็นอีกสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายในประเทศไทย สภาพบ้านก่อนการซ่อมแซม ยังมีภาพนำมาแขวนแสดงเป็นนิทรรศการ "ปะติด ไปต่อ" เปิดให้เข้าชมถึง 15 ก.ย.2556 ส่วนผนังบ้านและพื้นที่ชั้น 2 ยังต้องรอเงินทุน แต่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์กลางปีหน้า