"ย่านนางเลิ้งเป็นพื้นที่อยู่ระหว่างคลองรอบกรุง กับคลองผดุงกรุงเกษม มีพัฒนาการยาวนานกว่า 200 ปี เคยเป็นพื้นที่ทุ่งนาและมีผู้คนอยู่เบาบางนับแต่สมัย กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อเกิดการขยายตัวของ กรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทําให้ ย่านนางเลิ้งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนทั้งไทย เขมร ลาว ญวน และจีน หนาแน่นขึ้น และนับตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ย่านนางเลิ้งค่อยๆ พัฒนา กลายเป็นย่านที่อยู่ของเจ้านายกลายเป็นย่าน ความเจริญ เกิดตลาดนางเลิ้งที่ต่อมากลายเป็น ย่านศูนย์กลางการค้าและแหล่งบันเทิงที่มีชื่อเสียง ย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครและสืบมานานกว่า 100 ปี เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมาความรุ่งเรืองของย่านนางเลิ้ง ต้องพลิกผันกลายเป็นเพียงความทรงจําที่ผู้คนทั้งใน ชุมชนและผู้ที่เคยไปเยือนได้เล่าขานกันมาจนทุกวันนี้"
ย่านนางเลิ้ง ท้องทุ่งกว้างฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระนคร : บ้านสนามกระบือ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาล ที่ 1 - รัชกาลที่ 3 หรือ พ.ศ. 2325 - 2394) 70 ปีแรก ของการสถาปนากรุงเทพมหานคร บริเวณนางเลิ้งมี สภาพเป็นท้องทุ่งอยู่นอกกําแพงเมืองพระนครโดยมี คลองรอบกรุงคั่นอยู่ มีคลองมหานาคอยู่ทางทิศใต้ ระยะนี้จึงมีผู้คนอยู่เบาบางทั้งชาวไทย เขมรและลาวที่ ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึกและได้เคยช่วยขุดคูเมืองและ สร้างกําแพงพระนคร ย่านนางเลิ้งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระนคร เป็นที่อยู่ประปรายของคนไทยบ้างและ เชลยศึกบ้างที่กวาดต้อนมาทั้งเขมรและลาวที่ถูกเกณฑ์ ให้ขุดคูสร้างกําแพงพระนคร รวมทั้งมอญล่องเรือมา ค้าขายและตั้งบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีชาวใต้ทั้งชาวละคร ชาวตะลุง และชาวสงขลาที่ติดตามกองทัพของพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งไปปราบกบฏที่ภาคใต้เข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ด้วย ซึ่งปรากฏชื่อเรียกบริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า “บ้านสนามกระบือ” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “บ้านสนามควาย”
บ้านสนามควาย หรือ บ้านสนามกระบือในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเป็นทุ่งกว้างใหญ่มีผู้คนหลายกลุ่มจำนวนไม่มากนักอยู่กันอย่างเบาบาง อันเป็นพื้นที่นอกพระนครมีการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก คลองรอบกรุง (คลองบางลําพู คลองโอ่งอ่าง) ออก สู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือและด้านใต้ จากคลองรอบกรุงผ่านคลองหลอดเข้าคลองคูเมืองเดิมเข้าสู่ใจกลางพระนครและจากคลองรอบกรุงออกคลองมหานาคออกไปสู่พื้นที่อันโล่งกว้างทางตะวันออกของพระนครได้ เส้นทางเหล่านี้ได้กลายเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนการค้าที่สําคัญต่อมาด้วย ชาวใต้กลุ่มหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านสนามควายนั้นโปรดเกล้าฯให้เป็น “ไพร่หลวงเกณฑ์บุญ” ฝึกเป็น ช่างปูนช่างศิลาหลวง ชาวใต้กลุ่มนี้ได้มีการนําเอาศิลปะการแสดงขอ ประเภทโขน ละครชาตรี หนังตะลุง ลิเก และดนตรีปีพาทย์เข้ามาจนกลายเป็น เอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียงสืบต่อกันมา นาน และปัจจุบันยังสืบสานคงอยู่คู่กับย่านนี้ที่สําคัญ คือ คณะครูพูน เรืองนนท์ และลูกหลานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
ผู้คนทั้งไทย เขมร ลาว มอญ และ ชาวใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดสนามกระบือ (หรือวัดสนามควาย) หรือวัดแค ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางชุมชน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2364 - 2367) นี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบต่อจากคลอง มหานาคตัดไปออกแม่น้ําบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทําให้การคมนาคมจากคลองมหานาคขยายออกไป สู่ท้องทุ่ง และพื้นที่ด้านตะวันออกของพระนครไปจนถึง จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ทําให้เกิดความสะดวก ต่อการคมนาคมและการขนส่ง จึงมีผู้คนสัญจรและ เกิดการค้าแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้คนอพยพ เข้ามาบริเวณย่านสนามกระบือเพิ่มขึ้น
บ้านสนามกระบือมิใช่พื้นที่นอกพระนครอีกต่อไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411) ทรงเสด็จเสวยราชย์ ทั้งในปีแรกทรงพิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองเจริญขึ้นผู้คนก็ เพิ่มมากกว่าเมื่อเริ่มสร้างกรุงจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการ ขยับขยายพระนครออกไปทางด้านตะวันออกโดยการ ขุด “คลองขุดใหม่” หรือ “คลองผดุงกรุงเกษม” ขนาน กับคลองรอบกรุง พร้อมทั้งสร้างป้อมตามแนวริมคลอง 8 ป้อม
ผลของการขุดคลองนี้ทําให้บ้านสนามกระบือ กลายเป็นเขตพื้นที่ในพระนคร และเป็นการเปิดพื้นที่การทํานา ทําสวนมากขึ้น เกิดเส้นทางสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้นอีก คือคลองผดุงกรุงเกษมที่สามารถออกสู่แม่น้ําเจ้าพระยาทั้งทางด้านเหนือ (บริเวณวัดเทวราชกุญชร หรือ วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ หรือผ่านลงไปทางด้านใต้ผ่าน คลองมหานาคและย่านวัวลําพอง (หัวลําโพง) ไปออกแม่น้ํา เจ้าพระยาบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้าบริเวณ สี่พระยา นอกจากนี้หลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนจากเมืองกาญจนบุรีกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาด ต้อนมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัวให้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม (ใกล้สะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์) ฝั่งตรงข้ามวัดสนาม กระบือ ชาวญวนกลุ่มนี้ต่อมาได้ร่วมกันสร้างวัดอนัมนิกาย ของตนขึ้น คือ วัดเกี่ยงเพื่อกสื่อ หรือที่ชาวบ้านเรียกกัน ต่อมาภายหลังว่า วัดญวนนางเลิ้ง เป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติศาสนกิจ
ชุมชนเริ่มขยายมากขึ้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดโสมนัสราชวรวิหารขึ้นริมคลองผดุงกรุงเกษมนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงราชวรวิหาร ชั้นโท ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของ วัดสนามกระบือและในรัชกาลนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ เปลี่ยนชื่อวัดสนามกระบือหรือวัดแค เป็นวัดสุนทรธรรมทานด้วย
นางเลิ้งกับการพัฒนาสู่ความทันสมัย
หลังจากการเปิดประเทศด้วยการทําสนธิสัญญาบาวริง ในปี พ.ศ. 2398 สยามผูกพันกับเศรษฐกิจโลก มีชาวต่างประเทศทั้งจีน ฝรั่งและแขกต่างทยอยกันเข้า มาตั้งห้างร้านและตัวแทนจําหน่ายสินค้าในกรุงเทพฯ มี สินค้าหลากหลายเข้ามาสู่สยาม เกิดธุรกิจโรงแรม ท่าเรือ ค้าปลีก ค้าส่ง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการค้าและธุรกิจใน กรุงเทพฯด้วยการสร้างสาธารณูปโภคที่ทันสมัยแบบ ตะวันตก เช่น ไฟฟ้า ประปารถเจ็กรถลากรถราง ไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรเลข ถนนหนทาง สะพานข้ามคลองให้รถ วิ่งและมีการสร้างวัง สถานที่ราชการ อาคารตึกฝรั่ง ห้องแถว ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง กายภาพของกรุงเทพมหานครทีละน้อย เพื่อตอบ สนองการขยายตัวทางการค้าภายในเมืองและการค้า ระดับประเทศ กรุงเทพฯ ค่อยๆ พัฒนาเป็นมหานครทางการค้า ในที่สุดย่านสนามกระบือซึ่งมีวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค) และวัดโสมนัสราชวรวิหารซึ่งเป็นวัดราษฎร์และวัดหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็เช่นกันได้ค่อยๆพัฒนาขึ้นและทวีความสําคัญอย่างเด่นชัด
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) ทรงขยายพระราชวังสวนดุสิตออกมานอกแนวคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคลองคูพระนครใหม่ พร้อมกับมีการตัดถนนหลายสาย เช่น ถนนราชดําเนิน (ใน กลาง และนอก) ถนนสามเสน ถนนกรุงเกษม ถนนหลานหลวง ถนนลูกหลวง ถนนนครสวรรค์ ถนนพะเนียง ถนน จักรพรรดิพงษ์ ถนนศุภมิตร ถนนพิษณุโลก อีกทั้งยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองต่างๆ เพื่อใช้ในการสัญจรถึงกันได้สะดวก เป็นการเปิดพื้นที่นอกกําแพงพระนครทั้งด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางทิศตะวันออกบริเวณบ้านสนามกระบือได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญและกลายเป็นย่านที่ผู้คนเข้าถึงได้ทั้งการคมนาคม ทางบกและทางน้ํา
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ดินบริเวณพื้นที่นอกแนวคลองผดุงกรุงเกษมที่เปิดใหม่ บริเวณ บ้านสนามกระบือและใกล้เคียงนี้ให้พระราช โอรสสร้างวังต่างๆ 10 กว่าวัง บริเวณนี้ จึงกลายเป็น “ย่านวัง" เจ้านาย ได้แก่ วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (วังนางเลิ้ง) วังกรมหมื่นไชยศรีสุริโยภาส วังกรมหลวงสิ่งหวีกรมเกรียงไกร (วังสะพานขาว) วังสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ (วัง วรติศ) วงจอมพลหลวงนครไชยศรีสุรเดช (วังมหานาค) วังจันทรเกษม วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ (วัง ปารุสกวัน) วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ (วังลดาวัลย์) วังกรมหลวงปราณกิติบดี วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (วังบาง ขุนพรหม) และวังกรมหลวงจันทบุรีนฤนารถ เป็นต้น พร้อมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการ รับวัฒนธรรมตะวันตกในรูปแบบการก่อสร้าง วังและความนิยมในสินค้าอุปโภคและบริโภคของตะวันตกตามมามากขึ้น