โรงหนังนางเลิ้ง ‘ศาลาเฉลิมธานี’ นามนี้ ที่ผู้คน..หลงเลือน

‘ชุมชนนางเลิ้ง’ บนถนนนครสวรรค์ นับเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งเคยมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของกรุงเทพฯ ก่อนได้รับการผนวกเข้ากับ ‘เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย’ ในภายหลัง ภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของ ‘ตลาดนางเลิ้ง’ ตลาดบกแห่งแรกของเมืองไทย ที่มีอายุยาวนานมากกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดตลาดเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒



 

บรรยากาศครั้งวันวานของตลาดแห่งนี้นับว่าเต็มไปด้วยสีสันความคึกคัก ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมสรรพสิ่งสินค้าทั้งของสด และของแห้งแล้ว ภายในตลาดยังเคยเป็นที่ตั้งของ โรงบ่อน โรงยาฝิ่น สำนักโคมเขียว หรือ ‘ซ่องโสเภณี’ ไว้คอยบริการนักเที่ยวยุคก่อน รวมไปถึง โรงหนังในยุคบุกเบิก ก็ตั้งอยู่ภายในตลาดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

 

โรงหนังที่กล่าวถึงนี้ถูกเรียกขานกันว่า ‘โรงหนังนางเลิ้ง’ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ โดย ‘บริษัทภาพยนตร์พัฒนากร’ นับว่าเป็นโรงหนังในยุคแรกๆ ของเมืองไทย ที่เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๖๑ จนสร้างบรรยากาศความฮือฮาตื่นตัวในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด ให้หันมาเสพมหรสพตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตกกันอย่างคึกคัก

 

ลักษณะของ โรงหนังนางเลิ้ง เป็นอาคารโถง ๒ ชั้นที่สร้างด้วยไม้ ดูคล้ายโกดัง ระยะแรกที่เปิดฉายนั้น ที่นั่งชมจะเป็นเก้าอี้ไม้ที่วางตั้งเป็นแถวยาว ไม่มีการกำหนดเลขที่นั่ง และไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว ใครเข้ามาก่อนก็สามารถเลือกที่นั่งได้โดยอิสระ โดยก่อนที่หนังจะฉายนั้น จะมีการบรรเลงแตรวงเพื่อคอยเรียกความสนใจจากคนดูอยู่หน้าโรง และพอถึงเวลาหนังฉายแล้ว วงดนตรีดังกล่าวก็จะย้ายเข้ามาบรรเลงเพลงประกอบหนังต่อไป เนื่องจากการฉายหนังในยุคแรกนั้น ยังเป็นการฉายหนังใบ้ที่ไม่มีเสียงพากย์ประกอบนั่นเอง

 

หลังจาก โรงหนังนางเลิ้ง ได้ถูกขายกิจการต่อมาให้กับ ‘บริษัทสหศีนิมา จำกัด’ ในสังกัดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ช่วงแห่งการสมโภชกรุงเทพมหานคร ๑๕๐ ปีแล้ว  จึงถูกเปลี่ยนชื่อกลายมาเป็น ‘ศาลาเฉลิมธานี’ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อโรงหนังที่นำหน้าด้วยคำว่า ‘เฉลิม’ อีก ๗ โรง อันได้แก่ ศาลาเฉลิมกรุง , ศาลาเฉลิมไทย , ศาลาเฉลิมนคร , ศาลาเฉลิมบุรี , ศาลาเฉลิมเวียง , ศาลาเฉลิมรัฐ และศาลาเฉลิมราษฎร์  


 

จากในยุครุ่งโรจน์ของ ศาลาเฉลิมธานี ซึ่งเคยมีคนดูมากถึงรอบละ ๓๐๐-๔๐๐ คน เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ อันเป็นช่วงตกต่ำซบเซาของวงการภาพยนตร์ไทย ที่มีคนตีตั๋วเข้ามาดูหนังเพียงรอบละไม่ถึง ๑๐ คน นี่จึงกลายเป็นปีที่โรงหนังประวัติศาสตร์แห่งนี้ต้องยุติกิจการลงในที่สุด ก่อนที่ตัวอาคารจะถูกแปรสภาพกลายมาเป็นโกดังเก็บสินค้าของเอกชนในภายหลัง ซึ่งนับเป็นการปิดตำนานแหล่งมหรสพเก่าแก่อีกแห่งที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มายาวนานถึง ๗๕ ปีเต็ม.